Skip to content

อาหารไม่ย่อย สาเหตุ และวิธีแก้อาการอาหารไม่ย่อย 7 วิธี

อาหารไม่ย่อย อาหารไม่ย่อย หรือ ธาตุพิการ (ภาษาอังกฤษ : Indigestion หรือ Dyspepsia) หมายถึง อาการไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ที่เกิดขึ้นในระหว่างหรือหลังการรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน เช่น จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย เป็นต้น ส่วนสาเหตุการเกิดนั้นมีได้หลากหลาย และมีตั้งแต่สาเหตุเล็กน้อยไปจนถึงโรคที่รุนแรง และความผิดปกติ (พยาธิสภาพ) อาจอยู่ทั้งในและนอกกระเพาะลำไส้ บางคนเป็นครั้งคราว บางคนอาจเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง

สาเหตุ อาหารไม่ย่อย

เนื่องจากอาการอาหารไม่ย่อยเป็นอาการแสดงของโรค ซึ่งมิใช่โรคที่จำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง จึงอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ได้หลายอย่าง โดยประมาณ 40% ของผู้ป่วยจะสามารถตรวจพบสาเหตุของอาการได้ แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 60% จะหาสาเหตุของอาการไม่พบ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล) ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมาก หรืออาจสัมพันธ์กับฮอร์โมน ความเครียดทางจิตใจ อาหาร หรืออาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์

วิธีรักษาอาหารไม่ย่อย

แนวทางการรักษาอาการอาหารไม่ย่อย คือ การรักษาไปตามสาเหตุ (ในรายที่ทราบสาเหตุ) เช่น การรักษาโรคแผลเพ็ปติก การปรับเปลี่ยนยาเมื่อเกิดจากผลข้างเคียงของยา เป็นต้น ส่วนในรายที่ไม่ทราบสาเหตุ (อาหารไม่ย่อยชนิดไม่มีแผล ซึ่งพบได้เป็นส่วนใหญ่) แนวทางการรักษาหลัก ๆ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการให้ยาต่าง ๆ เช่น ยาลดกรด (Antacids), ยาเพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้, ยาช่วยย่อยอาหาร (Digestive drug) และยาขับลม (Antiflatulent) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

  1. ถ้ามีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือตอนดึก หรือมีอาการจุกเสียดแน่นท้องหลังอาหาร เรอเปรี้ยว หรือมีประวัติรับประทานยาแอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือดื่มแอลกอฮอล์ แพทย์จะให้รับประทานยาลดกรด (Antacids) ร่วมกับยาลดการสร้างกรดกลุ่มต้านเอช 2 (H2 antagonist) เช่น รานิทิดีน (Ranitidine) ถ้ารู้สึกว่าอาการทุเลาลงหลังรับประทานยาได้ 2-3 ครั้ง ให้รับประทานยาติดต่อกันนานประมาณ 8 สัปดาห์ เพื่อครอบคลุมโรคแผลเพ็ปติกที่อาจเป็นสาเหตุของอาหารไม่ย่อยได้
  2. ถ้ามีลมในท้องหรือเรอ แพทย์จะให้รับประทานยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อหรือยาขับลม (Antiflatulent) หรือยาลดกรดที่มีไซเมทิโคนผสมอยู่ โดยในเด็กเล็กให้รับประทานยาไซเมทิโคน ½-1 หยด (0.3-0.6 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำ 2-4 ออนซ์ (¼-½ ถ้วย) หรือใช้ทิงเจอร์มหาหิงคุ์ทาหน้าท้อง ถ้ายังไม่ได้ผลหรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ให้รับประทานยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือดอมเพอริโดน (Domperidone) ก่อนอาหาร 3 มื้อ
  3. มีหลักฐานชี้ว่า การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy – CBT) สามารถช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานที่มีคุณภาพเพียงพอชัดเจนสำหรับการลดอาการอาหารไม่ย่อยในผู้ป่วยทุกราย แต่อาจใช้ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องของอารมณ์ที่ผิดปกติร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder) เป็นต้น
  4. การปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการอาหารไม่ย่อย ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

    • งดการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาสเตียรอยด์ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอนติสปาสโมดิก ทีโอฟิลลีน เป็นต้น
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารมัน ของหมักดอง อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่ย่อยได้ยาก (อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล) เพราะอาหารเหล่านี้จะทำให้อาการเลวลง
    • ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ ส่วนอาหารมื้อเย็นให้รับประทานก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมงขึ้นไป
    • เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่เร่งรีบในการรับประทานอาหาร และอย่ารับประทานอาหารแต่ละมื้อจนอิ่มมากเกินไป หลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ อย่าล้มตัวลงนอนทันทีหรืออยู่ในท่าก้มงอตัว แต่ควรรออย่างน้อยประมาณ 2-3 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กระโปรง หรือคาดเข็มขัดที่รัดแน่นจนเกินไป
    • ควรเคลื่อนไหวร่างกายสักพักหลังการรับประทานอาหารเพื่อช่วยในการย่อยและการบีบตัวของกระเพาะอาหาร เพราะจะช่วยขับเคลื่อนอาหารออกจากกระเพาะอาหารได้เร็วและไม่คั่งค้างจนก่อให้เกิดอาการได้
    • ถ้ามีความเครียดควรออกกำลังกายเป็นประจำหรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำงานอดิเรกหาความบันเทิงใจ ปลูกต้นไม้ ฟังเพลง เล่นดนตรี ดูภาพยนตร์ สวดมนต์ไหว้พระ ทำสมาธิ ภาวนา ตามหลักศาสนาที่นับถือ
    • ออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 20-40 นาที (แต่ไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังรับประทานอาหาร)

อาการ อาหารไม่ย่อย

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องตรงบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ในลักษณะจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีลมในท้อง เรอบ่อย แสบท้อง เรอเปรี้ยว คลื่นไส้หรืออาเจียนเล็กน้อย โดยอาจมีอาการเหล่านี้เพียงอย่างเดียวหรือหลายอย่างร่วมกัน และอาจเกิดขึ้นในระหว่างรับประทานอาหารหรือหลังการรับประทานอาหารก็ได้ (บางรายอาจมีประวัติการใช้ยา ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน หรือมีความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ) โดยอาการจะเป็นเฉพาะบริเวณระดับเหนือสะดือขึ้นไป และจะไม่มีอาการปวดท้องในระดับใต้สะดือและไม่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการขับถ่ายร่วมด้วย

  • ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน จะมีอาการเรอเปรี้ยวหรือแสบลิ้นปี่ขึ้นมาถึงลำคอ และจะเป็นมากเวลานอนราบหรือก้มตัว
  • ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก มักจะมีอาการแสบท้องเวลาหิวหรือหิวก่อนเวลา หรือปวดท้องในตอนดึก และอาการจะทุเลาเมื่อกินยาลดกรด ดื่มน้ำ หรือกินอาหาร และมักจะมีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย
  • ในผู้ป่วยที่เป็นโรคของตับ ถุงน้ำดี ตับอ่อน และมะเร็งในช่องท้อง ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการอาหารไม่ย่อยหรือแผลเพ็ปติก แต่ในระยะต่อมามักจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ดีซ่าน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอย (ถ้าเป็นโรคตับหรือถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการตาเหลือง ตัวเหลือง ฝ่ามือแดง มีจุดแดงรูปแมงมุม แต่ถ้าเป็นมะเร็งอาจคลำได้ตับโตหรือมีก้อนในท้องหรือมีภาวะซีด)
  • ในผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด จะมีอาการจุกแน่นยอดอกและปวดร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป อาจมีประวัติการสูบบุหรี่ เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือภาวะไขมันในเลือดสูง

สำหรับผลข้างเคียงจากอาการอาหารไม่ย่อย หลัก ๆ คืออาการไม่สบายท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ และอาการยังขึ้นอยู่กับสาเหตุที่กล่าวไป เช่น ถ้าเกิดจากโรคแผลเพ็ปติกหรือมะเร็งกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนยางมะตอยจากการมีเลือดออกจากแผลเพ็ปติกหรือจากแผลมะเร็งร่วมด้วย